รายงานพิเศษ : เมืองนักปราชญ์ ราชธานีแห่งหมอลำ
จังหวัดอุบลราชธานี มีมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีการอนุรักษ์สืบสานเป็นประเพณีมายาวนาน ส่งผลให้จังหวัดอุบลราชธานี มีความโดดเด่นทั้งด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม เป็นสังคมสงบสุข ควบคู่ไปกับความเจริญของโลกยุคใหม่
ชาวอุบลราชธานี มีความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แต่ส่งเสริมสิ่งใหม่ที่มาทดแทน โดยไม่ลืมรากเหง้าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ จึงมีเสาหลักทางพระพุทธศาสนาสำคัญคอยค้ำจุน มีพระอริยะสงฆ์ ปฏิบัติธรรมนำชีวิต และด้านศิลปวัฒนธรรม มีศิลปินหลากหลายสาขา ได้อนุรักษ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านศิลปะการแสดง สร้างความบันเทิง มีสาระทั้งด้านศาสนา สังคมการดำรงชีพ สร้างความรัก ความสามัคคี มีความรู้รอบด้าน คือ หมอลำ
จังหวัดอุบลราชธานี มีหมอลำได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติจำนวนมากถึง 6 คน นับเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทย ที่มีศิลปินแห่งชาติมากถึง 16 คน จนมีคำกล่าวขานว่า อุบลเมืองนักปราชญ์ ราชธานีแห่งหมอลำ
ในโอกาสนี้ ขอนำประวัติและความภาคภูมิใจของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ดังนี้
- นายทองมาก จันทะลือ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) คนแรก ปี 2529 อดีต สส.อุบลราชธานี
ประวัติ : นายทองมาก จันทะลือ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำเดือนที่ 3 ปีชวด หรือเกิดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ณ บ้านเลขที่ 6 บ้านชีท่าม่วง ตำบลชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น บิดาชื่อ นายสอน จันทะลือ มารดาชื่อ นางสมบูรณ์ จันทะลือ มีพี่น้องร่วมสายโลหิต 8 คน อยู่บ้านเลขที่ 156 หมู่ 5 ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
การศึกษา : จบการศึกษาชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบ้านชีท่าม่วง ตำบลชนบท อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น พอจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากขาดแรงงานหลักในครอบครัว
นายทองมาก จันทะลือ มีผลงานการแสดงดีเด่น เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในภาคอีสาน ในวัยเรียน ครูทองมาก มีความสามารถทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง แข่งขันกับผู้อื่นคือ “โหวด” และเรียนรู้วิธีการเป่าแคน และเป่าใบไม้ ได้ฝึกหัดและศึกษาการเป็นหมอลำกับพระอาจารย์อ่อน อาจารย์ผาย โยมา และแตกฉานในกลอนลำ นายทองมาก จันทะลือ แสดงหมอลำครั้งแรกกับหมอลำหญิงชื่ออ่อนตา หมอแคนชื่อนายลัง ได้รับรางวัลชนะเลิศในเรื่องกลอนลำ และได้ชนะเลิศหลายครั้งในการประกวด
นายทองมาก จันทะลือ ประชาชนเรียก หมอลำถูทา เพราะทางานเป็นโฆษกชื่อดังของบริษัทโอสถสภา (เต็กเฮงหยู) จำกัด โฆษณาขายยา มียาหม่อง “ถูทา ทาถู แก้วิงเวียน หน้ามืดตาลาย ไปรถลงเรือไปเหนือล่องใต้ ต้องพกยาหม่องมาทาถู..ถูทา” ใช้คำภาษาถิ่นอีสาน โฆษณาจนสินค้าติดตาตรึงใจผู้ฟังทำให้ประชาชนเรียก หมอลำถูทา หรือคุณพ่อถูทา..
เริ่มแสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2491 และแสดงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนมีชื่อเสียงโด่งดัง จนได้รับการยกย่องว่า เป็นหมอลำชั้นหนึ่ง หาผู้มาประชันได้ยาก โดยท่านยึดถือคุณสมบัติหมอลำที่ดีควรมีหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) มีความรู้ฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม 2) เสียงดังมีเสน่ห์ รูปร่างหนาตาดี และ 3) มีลีลาบทบาท มารยาทอ่อนโยน
ความภูมิใจ/รางวัลเกียรติคุณ
ปี พ.ศ. 2500 ชนะเลิศการประกวดหมอลำชั้นเอก ที่จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. 2500 ชนะเลิศการประกวดหมอลำที่อำเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม
ปี พ.ศ. 2502 ชนะเลิศการประกวดหมอลำชั้นหนึ่งที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. 2510 ชนะเลิศการประกวดหมอลำคู่ ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ปี พ.ศ. 2511 และ 2512 ชนะเลิศการประกวดหมอลำในงานสงกรานต์ ที่อำเภอวารินชาราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ปี พ.ศ. 2514 อาศัยความเป็นผู้แทนของชาวหมอลำ จึงได้ก่อตั้งสหพันธ์ ”สหพันธ์หมอลำแห่งประเทศไทย” และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสหพันธ์เป็นคนแรก
ปี พ.ศ. 2524 ได้รับรางวัลดีเด่นการผลิตผลงานเพื่อเยาวชนประเภทสื่อชาวบ้าน จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ
ปี พ.ศ. 2528 ได้รับรางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
และในปี พ.ศ. 2529 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง สาขาย่อย(หมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช 2529 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ปี พ.ศ. 2535 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
ปี พ.ศ. 2513 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
นายทองมาก จันทะลือ หรือ ”หมอลำถูทา” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2529 สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) คนแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี 2512 จากประชาชนเลือกทั้งจังหวัด และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554 ด้วยโรคชรา ขณะอายุ 87 ปี (ตามอายุจริงซึ่งเกิดในปี พ.ศ. 2467 แต่แจ้งเกิดตามบัตรประชาชนในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 ซึ่งหากนับตามบัตรประชาชน เสียชีวิตเมื่ออายุ 82 ปี)
- นายเคน ดาเหลา (เคนฮุด)
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2534
ประวัติ : นายเคน ดาเหลา หรือเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนอีสานว่า ”หมอลำเคนฮุด” เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2473 ที่บ้านหนองเต่า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี อยู่บ้านเลขที่ 528/155 หมู่ที่11 หมู่บ้านแก่นทองธานี ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น
นายเคน ดาเหลา เป็นศิลปินหมอลำอาวุโสของภาคอีสาน มีลีลาการลำและศิลปะการใช้น้ำเสียงเป็นที่ประทับใจคนฟังได้อย่างดียิ่ง เป็นผู้มีปฏิภาณเป็นเลิศในเชิงกลอนลำสด มีคารมคมคาย ทั้งลำทางสั้น ลำทางยาว ลำเต้ย และลำเบ็ดเตล็ดอื่นๆ รวมถึงสำนวนผญาแบบอีสาน สำนวนกลอนนอกจากจะเฉียบ ลุ่มลึกถึงใจผู้ฟังแล้วยังประกอบไปด้วยสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในบรรดาศิลปินหมอลำอาวุโสของภาคอีสานเป็นหมอลำชั้นครู และเป็นต้นแบบของการแต่งกลอนลำและลำแม่บทที่เรียกว่า “ลำแม่บท ๓๒ ท่า” ได้สมบูรณ์แบบที่สุด เป็นศิลปินผู้ได้รับการยอมรับในวงการหมอลำทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังได้ไปเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ในต่างประเทศและเป็นศิลปินผู้อุทิศตนเพื่อสังคมด้วยดีตลอดมา
การพัฒนาสืบสาน
พ.ศ. 2509 นายเคน ดาเหลา ได้ก่อตั้งโรงเรียนหมอลำที่บ้านหนองเต่า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล และสำนักงานหมอลำ (ข้างวัดแจ้ง) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และมีลูกศิษย์เดินทางเข้ามาเล่าเรียนเป็นจำนวนมากจนมีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ ทองเจริญ ดาเหลา (บุตรชายของหมอลำคง ดาเหลา) ฉวีวรรณ ดำเนิน และบุญช่วง เด่นดวง เป็นต้น
ต่อมานายเคน ดาเหลา ได้เปิดสำนักงานหมอลำร่วมกับหมอลำคำภา ฤทธิทิศ ที่ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ลูกศิษย์ที่เดินทางเข้ามาเล่าเรียนในยุคนี้มี บุญเสริม เพ็ญศรี อำพัน สร้อยสังวาลย์ และ ทองศรี ศรีรักษ์ เป็นต้น
พ.ศ. 2527 มูลนิธิญี่ปุ่น (The Japan Foundation) และบริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น (Japan Broadcasting Corporation) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้เชิญนายเคน ดาเหลา, นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย และ นางฉวีวรรณ ดำเนิน ร่วมเดินทางไปทำการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมอีสานที่ประเทศญี่ปุ่น
ชีวิตครอบครัว
นายเคน ดาเหลา ได้ประกอบอาชีพทางด้านศิลปินด้วยการแสดงหมอลำเพียงอย่างเดียว จนประสบผลสำเร็จในด้านชื่อเสียง และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอสมควร จนสามารถสนับสนุนให้บุตรธิดาได้รับการศึกษาในระดับสูงๆ และประกอบอาชีพอย่างมั่นคงโดยหมอลำเคน ดาเหลา มีภรรยา และบุตรธิดา ดังนี้
1. นางเบ็ญ คำไม มีบุตรธิดาร่วมกัน 3 คน
2. นางพูนทรัพย์ ผาลา มีบุตรร่วมกัน 1 คน
3. นางคำภา ฤทธิทิศ มีบุตรธิดาร่วมกัน 6 คน
4. นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2540 ไม่มีบุตรธิดาร่วมกัน อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 528/155 หมู่บ้านแก่นทองธานี ต.บ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
เกียรติคุณที่ได้รับ
ปี พ.ศ.2531 ได้รับยกย่องเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ปี พ.ศ.2533 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนายกสหพันธ์สมาคมหมอลำแห่งประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2534 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงศึกษาธิการ
การเจ็บป่วยและเสียชีวิต นายเคน ดาเหลา ได้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายมาร่วมเดือน โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 สิริอายุ 84 ปี
- ดร.ฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ)
ศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2536
ประวัติ ดร.ฉวีวรรณ ดำเนิน หรือ หมอลำฉวีวรรณ พันธุ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2488 บ้านหนองไหล ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ) ได้รับการยกย่องว่าเป็น ”ราชินีหมอลำคนแรกของประเทศไทย” เคยเป็นนางเอกหมอลำคณะรังสิมัน และศิลปินแห่งชาติ สาขา ศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2536 และเป็นบรมครูด้านหมอลำ มีลูกศิษย์ทั่วประเทศ
หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน เป็นบุตรของ คุณพ่อชาลี ดำเนิน และคุณแม่แก้ว ดำเนิน อาชีพทำนา หมอลำฉวีวรรณ เป็นบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่น มีไหวพริบปฏิภาณด้านหมอลำที่เฉียบแหลมยิ่งคนหนึ่ง โดยได้รับการฝึกฝนเรื่องหมอลำจากบิดา ญาติ และหมอลำที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีตหลายท่าน ซึ่งความจัดเจนเรื่องหมดลำที่ฝึกฝนมาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เป็นหมอลำที่มีความสามารถสูงทั้งด้านการแต่งกลอนลำ การคิดท่วงทำนองหมอลำกลอน เขียนกลอนลำ ประดิษฐ์ท่าลำ และบทร้องชุดแม่อีสาน ผลงานที่โดดเด่นที่สุด คือ การแสดงชุดดึงครกดึงสาก ประกอบกับเป็นบุคคลที่มีน้ำเสียงไพเราะ มีพลังทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของแดนอีสาน และได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชมจากประชาชนว่าเป็น ราชินีหมอลำ ซึ่งเป็นราชินีหมอลำคนแรกของประเทศไทย
หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ยังเคยเป็นนางเอกหมอลำคณะรังสิมันต์ คู่กับ ทองคำ เพ็งดี คู่พระคู่นาง ที่โด่งดังมากในยุคประมาณปี 2508 - 2513 โดยเฉพาะเรื่อง สีทนมะโนราห์ โดยมีลูกศิษย์คนสำคัญ เช่น บานเย็น รากแก่น, อังคนางค์ คุณไชย ที่ได้รับการยกย่องเป็นราชินีหมอลำเช่นเดียวกัน รวมทั้งการแสดงภาพยนตร์ ราชินีดอกหญ้า ซึ่งจำลองจากชีวิตจริงของหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน
ด้านชีวิตครอบครัว หมอลำฉวีวรรณ สมรสกับ โกมินทร์ พันธุ หมอแคนพื้นบ้าน มีบุตร-ธิดา 2 คน
ประสบการณ์ด้านสืบสาน
เป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม, อาจารย์พิเศษที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด และอาจารย์พิเศษที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับเกียรติได้ดำรงตำแหน่งกรรมการตัดสินการประกวดต่างๆ สำคัญๆ ของทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย
นอกจากการแสดงในประเทศแล้ว ยังได้รับเกียรติให้ไปแสดงต่างประเทศหลายครั้ง หลายประเทศ
รางวัลและความภาคภูมิใจ
ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขา นาฏยศิลป์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ดร.ฉวีวรรณ ดำเนิน ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2536 นับเป็นหมอลำเมืองนักปราชญ์ ราชธานีแห่งหมอลำ เป็นเกียรติและวงศ์ตระกูลสืบไป
- นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2540
ประวัติ : นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475 บิดาชื่อ นายช่วย ไผ่ผิวชัย มารดาชื่อ นางต่อน ไผ่ผิวชัย จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านดอนจิก ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
@ เข้าสู่สายศิลปินหมอลำ โดยสนใจแสดงหมอลำมาตั้งแต่อายุ 12 ปี ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ หมอลำทองมี สายพิณ, หมอลำสุบรรณ พละสูรย์ เด็กหญิงบุญเพ็งเป็นผู้ที่มีความจำและไหวพริบปฏิภาณสูง ฝึกลำอยู่เพียง 2 ปี ก็สามารถรับงานแสดงเป็นของตนเองได้ และเนื่องจากเป็นหมอลำที่มีสำนวนคมคาย สามารถโต้ตอบกับหมอลำฝ่ายชายได้อย่างฉลาดเฉลียว เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ได้ชื่อว่าเป็นหมอลำที่มีคารมกล้า โต้ตอบกับคู่ลำด้วยไหวพริบที่ฉับไว
@ การครองเรือนและสร้างครอบครัว โดยได้สมรสกับ นายพั่ว พูลทอง (ถึงแก่กรรม) มีบุตรและธิดา 8 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้สมรสกับ นายเคน ดาเหลา หรือ ”หมอลำเคน” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2534 ไม่มีบุตรด้วยกัน หมอลำเคน ดาเหลา และแม่ครูหมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย หลังจากได้แต่งงานก็ใช้ชีวิตครองคู่กันจนวาระสุดท้ายของชีวิต
@ ผลงานการกลอนลำของแม่ครูบุญเพ็ง ไผ่ผิวชัย แต่ละกลอนมีสาระเชิงปรัชญาชีวิต ให้คติสอนใจที่แยบคาย จนเธอได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก จนทำให้ บริษัท กมลสุโกศล ติดต่อให้บันทึกเสียงลงแผ่น เป็นหมอลำหญิงคนเดียว เมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุด มีงานแสดงทั้งกลางวัน กลางคืน เป็นศิลปินของประชาชนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชินีหมอลำ
@ ผลงานโดดเด่น ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2533 ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2537 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
@ นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปี พ.ศ. 2540
@ ชีวิตวัยชราหมอลำบุญเพ็ง ไผ่ผิวชัย มีอาการเจ็บปวดที่ข้อเข่าเรื่อยมาเป็นเวลา 3-4 ปี ที่ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันช่วยขณะเดินจนเกิดอุบัติเหตุ ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มห้องน้ำในบ้านพักหมู่ 22 ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 28 มีนาคม 2551 ขณะเข้าไปอาบน้ำ สักพักได้ยินเสียงไม้ค้ำยันหล่นลงพื้น สามีคือหมอลำเคน จึงได้รีบวิ่งไปดูก็พบว่า ภรรยาล้มหัวฟาดฟื้นจนสลบไป ญาติๆ จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ปรากฏว่าเตียงผู้ป่วยเต็ม จึงได้นำตัวมารักษาที่ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โดยตลอดระยะเวลา 2 วัน ที่นางบุญเพ็ง เข้ารับการรักษาก็ไม่ได้สติอีกเลย กระทั่งเสียชีวิตเมื่อกลางดึกวันที่ 1 เมษายน 2551 สิริอายุ 76 ปี
- ดร.ฉลาด ส่งเสริม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2548
หมอลำ ฉลาด ส่งเสริม หรือ ป.ฉลาดน้อย มีชื่อเล่นว่า เป เกิดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ที่บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี สมรสกับนางสมบูรณ์ ส่งเสริม มีบุตร 3 คน คือ นายอดิชาติ ส่งเสริม นางสาววาสนา ส่งเสริม และนางสาวจารุวรรณ
ประวัติการศึกษา
หมอลำฉลาด ส่งเสริม (ป.ฉลาดน้อย) พ.ศ. 2500 จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนวิจิตรราษฎร์สามัคคี ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และบิดาได้นำไปฝากพระครูเจียม วัดบูรพาพิสัย บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อบวชเรียนพระธรรมวินัยบาลีไวยากร อักษรขอม และฝึกเทศน์เสียงตามบุญมหาชาติเกือบทุกหมู่บ้านในตำบลหนองบ่อ พ.ศ. 2502 จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสมเด็จ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2503 บิดาได้นำไปฝากเจ้าอาวาสวัดบูรพาพิสัย เพื่อเข้าเรียนนักธรรมโท พ.ศ. 2504 ศึกษานักธรรมชั้นเอก และในขณะเดียวกันยังเทศน์เสียงในงานบุญมหาชาติในอำเภอเมืองอุบลราชธานีด้วยน้ำเสียงไพเราะ พ.ศ. 2505 ขณะที่เป็นสามเณร ได้ฝึกร้องหมอลำตามเสียงทางวิทยุ ว.ป.ก. 6 ในแนวเสียงของหมอลำทองคำ เพ็งดี และหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน โดยเฉพาะลำล่องนิทานนางแตงอ่อน พ.ศ. 2506 ลา สิกขาบทจากสามเณร บิดาได้พาไปฝากเป็นศิษย์อาจารย์สุวรรณ ติ่งทอง ให้ฝึกลำกลอน (ลำทางสั้น) และลำคู่ ฝึกได้ 4 เดือน ไม่เกิดความชำนาญ เพราะต้องท่องกลอนยาวซึ่งยาวมากจึงหยุดพักระยะหนึ่ง แล้วหันไปร้องหมอลำหมู่ที่บ้านหนองบ่อ กับคณะ ก.สำราญศิลป์ โดยมีอาจารย์กิ่ง ทิมา เป็นผู้ฝึกสอน
การแสดงที่โดดเด่น
หมอลำฉลาด ส่งเสริม เป็นหมอลำเรื่องต่อกลอนที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในด้านน้ำเสียงที่ก้องกังวาลแจ่มใส คำร้องมีการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ยากที่คนอื่นจะลอกเลียนแบบได้ โดยเฉพาะความสามารถแต่งกลอนลำทำนองเมืองอุบล จะนำเอาสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติตามท้องถิ่น เช่น ดิน ลม ฟ้า อากาศ ต้นไม้ มาแต่งเป็นกลอนลำ กลอนลำแต่ละกลอนจะมีคติสอนใจผู้ฟังอยู่เสมอ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง และสามารถร้องหมอลำได้หลายประเภท ทั้งลำยาว ลำเพลิน ลำเรื่อง ลำต่อกลอน ผลงานเด่น ได้แก่ นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ พระเวสสันดรชาดก องคุลีมาลสำนึกบาป พุทธประวัติตอนสิทธัตถะกุมารออกบวช นางนกกระจอกน้อย ผาแดงนางไอ่ ลูกเขยไทยสะใภ้ลาว เพลงรักบุญบั้งไฟ เป็นต้น
รางวัล/ความภาคภูมิใจ
ปี พ.ศ. 2515 ได้รับโล่รางวัลทองคำฝังเพชร ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง ”นางนกกระยางขาว” ของกรมประชาสัมพันธ์ ณ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 จังหวัดขอนแก่น
ปี พ.ศ. 2533 ได้รับโล่รางวัล ตัวประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ปี พ.ศ. 2534 ได้รับเกียรติบัตร จากกระทรวงสาธารณสุข ในนามสื่อมวลชนและศิลปินท้องถิ่นส่งเสริมโครงการรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ 17 จังหวัดในภาคอีสาน และเกียรติบัตรจากจังหวัดอุบลราชธานี ในนามศิลปินผู้สนับสนุนการผลิตเทปเพลงหมอลำอุบลราชธานี 200 ปี
ปี พ.ศ. 2538 ได้รับเกียรติบัตรจากจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้สนับสนุนโครงการคาราวานอีสานไม่กินปลาดิบ
ปี พ.ศ. 2542 ได้รับเกียรติบัตรกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในงานศิลปกรรมนักเรียน การประกวดแข่งขันวิชาการ วิชาชีพเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
ปี พ.ศ. 2544 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณ เป็นศิลปินดีเด่นของจังหวัดอุบลราชธานี สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2544
ปี พ.ศ. 2545 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณยอดฝีมือหมอลำที่คงคุณภาพ ผลงาน และสามารถแก้จนประสบความสำเร็จ จากรายการ เกมแก้จน ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบท ช่อง 5
ปี พ.ศ. 2547 ได้รับเชิดชูเกียรติสุดยอดศิลปินพื้นบ้านอีสาน ประเภทลำเรื่องต่อกลอนในโอกาสฉลอง 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โล่เชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์ผลงานดีเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงของ สถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปี 2548 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)
ปี 2565 ได้รับพระทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดนตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นับเป็นศิลปินหมอลำเมืองนักปราชญ์ ราชธานีแห่งหมอลำอย่างแท้จริง
- นางบานเย็น รากแก่น
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี 2556
ประวัติ : หมอลำบานเย็น รากแก่น ชื่อเดิม คือ นิตยา รากแก่น เกิดวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ที่บ้านกุดกลอย ตำบลโนนสว่าง อำเภอตระการพืชผล (ปัจจุบันคือ อำเภอกุดข้าวปุ้น) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายสุดตา และนางเหมือย รากแก่น
หลังจบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านท่าวังหิน จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้คลุกคลีอยู่กับคณะหมอลำของคุณป้าหนูเวียง แก้วประเสริฐ หมอลำกลอนชื่อดังของจังหวัด โดยฝึกฝนทักษะการลำ และการร่ายรำท่าต่างๆ อย่างสวยงาม จนเป็นที่ชื่นชมของคุณครู ครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ และผู้คนในท้องถิ่น
หมอลำบานเย็น รากแก่น ออกแสดงหมอลำครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ด้วยน้ำเสียงมหาเสน่ห์ รูปร่างหน้าตาสะสวย มีลีลาในการลำและร่ายรำที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ ทองคำ เพ็งดี พระเอกและเจ้าของคณะหมอลำรังสิมันต์ หมอลำหมู่ชื่อดังในขณะนั้นได้ชวนมาเป็นนางเอกของคณะ
ต่อมา หมอลำบานเย็น รากแก่น ได้แยกตัวมาเป็นหัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ คณะบานเย็น รากแก่น เมื่ออายุเพียง 18 ปี โดยมีงานแสดงตามจังหวัดต่างๆ และต่างประเทศอยู่หลายครั้ง เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อีกทั้งยังได้แสดงเพื่อสาธารณกุศลอีกมากมาย ทำให้มีชื่อเสียงในระดับประเทศและระดับโลก
เนื่องจากหมอลำบานเย็น รากแก่น ได้ประยุกต์การแต่งตัวและการโชว์อย่างอลังการ จึงได้รับการยกย่องให้เป็น ”ราชินีลูกทุ่งหมอลำประยุกต์” คนหนึ่งของเมืองไทย
ผลงานเพลงที่สร้างชื่อให้กับ บานเย็น รากแก่น ได้แก่ เพลง งิ้วต่องต้อนอ้อนผู้บ่าว รวมทั้งลำเพลิน และลำเรื่องต่อกลอนอีกมากมาย เคยออกอัลบั้มบันทึกเสียงร่วมกับ ปริศนา วงศ์ศิริ นักร้องหมอลำ และนักแสดง อดีตนางเอกภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง แม่นาคพระโขนง แผ่นดินแม่ และการแสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง
ชีวิตครอบครัว นางบานเย็น รากแก่น สมรสกับ นายเทพบุตร วิมลชัยฤกษ์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นหญิง 2 คน ชาย 1 คน คือ แอนนี่, แคนดี้ และ โทนี่ โดยแคนดี้เป็นดีเจและนักร้อง ส่วนโทนี่เป็นสไตล์ลิสต์ทรงผม นายแบบ และนักแสดงขวัญใจวัยรุ่น
นอกจากนี้ บานเย็นยังเป็นอาจารย์พิเศษสาขาวิชานาฏศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และเจ้าของโรงเรียนสอนศิลปะการแสดงอีสานบานเย็น เพื่อถ่ายทอดศิลปะการแสดงหมอลำให้กับคนรุ่นหลัง
รางวัลเกียรติยศ/ความภาคภูมิใจ
ปี 2539 รางวัลพระราชทานผู้อนุรักษ์เพลงพื้นบ้านดีเด่น จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
ปี 2542 เกียรติบัตรศิลปินพื้นบ้านอีสาน จากกรมศิลปากร
ปี 2542 เกียรติบัตรสมาพันธ์หมอลำแห่งประเทศไทย
โล่จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการงาน ”60 ปี เล่าขานตำนานลูกทุ่งไทย”
ปี 2542 รางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทาน
ปี 2543 รางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ปี 2543 ปริญญากิตติมศักดิ์ ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขานาฏศิลป์และการแสดง จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี
ปี 2555 รางวัลเชิดชูเกียรติวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาศิลปกรรม (ขับร้องเพลงลูกทุ่งอีสาน) ประจำปี 2555 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ปี 2556 ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)
นับเป็นศิลปินดาวเด่นแห่งศตวรรษของเมืองไทยและเป็น 1 ใน 6 หมอลำเมืองปราชญ์ที่ได้รับการเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ
จังหวัดอุบลราชธานี ยังมีมรดกอันล้ำค่า ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอีกจำนวนมาก และชาวอุบลราชธานีทุกภาคส่วนร่วมกันสืบสานเพื่อให้อนุชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เป็นภูมิพลังเมืองอุบลราชธานีสืบไป
......….
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
14 ธันวาคม 2567