ดีอี เตือน เพจปลอม “กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก รับแจ้งความร้องทุกข์ออนไลน์” อย่าเชื่อ-แชร์ หวั่นสูญเงิน-ข้อมูลส่วนบุคคล

   เมื่อ : 20 ต.ค. 2567

            กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุด อันดับที่ 1 เรื่อง “กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก รับแจ้งความร้องทุกข์ออนไลน์” รองลงมาคือเรื่อง “กรมการขนส่งทางบกเปิดช่องทางทำใบขับขี่ออนไลน์แบบถูกกฎหมาย ผ่านเพจนางสาวออมทรัพย์” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

            นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 11-17 ตุลาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 821,389 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 399 ข้อความ

            สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 365 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 24 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 10 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 229 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 87 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก รับแจ้งความร้องทุกข์ออนไลน์

อันดับที่ 2 : เรื่อง กรมการขนส่งทางบกเปิดช่องทางทำใบขับขี่ออนไลน์แบบถูกกฎหมาย ผ่านเพจนางสาวออมทรัพย์

อันดับที่ 3 : เรื่อง PEA เปิดบัญชีไลน์การไฟฟ้าฝ่ายบริการ

อันดับที่ 4 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ กระทรวงยุติธรรมการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

อันดับที่ 5 : เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข เปิดเพจใหม่ชื่อนครเชียงรายนิวส์ เพื่อขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ

อันดับที่ 6 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กประชาสัมพันธ์ดิจิทัล เพจใหม่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

อันดับที่ 7 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊กชักชวนให้ร่วมลงทุน สร้างผลตอบแทนดี กำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต.

อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมการจัดหางานเปิดเพจเฟซบุ๊ก จัดหางานกระทรวงแรงงาน

อันดับที่ 9 : เรื่อง กระทรวงยุติธรรมร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัล เปิดช่องทางลงทะเบียนรับเงินคืนผ่านเพจ รู้ทันเหตุการณ์ สื่อสังคมออนไลน์

อันดับที่ 10 : เรื่อง ลงทุนหุ้นผ่านเพจ Bankok Dusit Hospital เลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงได้ ปลอดภัยเพราะกำกับดูแลโดย ก.ล.ต.

            “เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามนโยบายของรัฐบาล หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการรับเรื่องร้องทุกข์ และการเปิดให้ลงทะเบียนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยข่าวปลอมอันดับ 1 เรื่อง “กระทรวงยุติธรรมเปิดเพจเฟซบุ๊ก รับแจ้งความร้องทุกข์ออนไลน์” ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ” นายเวทางค์ กล่าว

            กระทรวงดีอี ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม พบว่า เพจเฟซบุ๊กดังกล่าวไม่ใช่เพจของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นการแอบอ้างและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เสมือนเป็นเพจของกระทรวงยุติธรรมเพจจริง เป็นการนําเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ดังนั้นขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยหากประชาชนสนใจรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.moj.go.th หรือโทร. 02-141-5100

            อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน สร้างความเสียหาย การเข้าใจผิด เกิดการหลงเชื่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถสอบถามผ่าน สายด่วน 1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชนยึด “หลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน”

            สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) | Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com