ข่ผู้ว่าฯอุบล ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ เชื่อบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ ช่วยลดผลกระทบและความเดือดร้อนของ ปชช.
3 ต.ค. 2567 เวลา 10.30 น. นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.มนต์สง่า ลีลาศสง่างาม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี นายสัมพันธ์ เดือนศิริรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุบลราชธานี นายชยพล ขวัญสู่ พลังงานจังหวัดอุบลราชธานี นายไพฑูรย์ ยังรักษา ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เขื่อนหัวนา ตำบลห้วยขะยุง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์แม่น้ำมูล เพื่อประเมินสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำซึ่งอาจมีผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกในบริเวณพื้นที่ภาคอีสานเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ซึ่งการการลงพื้นที่ พบว่ามีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 98.8 มม. สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลัก
1.แม่น้ำมูล
- ระดับน้ำสถานีเมืองอุบลราชธานี (M7) อ.เมือง ระดับติ่งสูง 8 เมตร ระดับน้ำ เมื่อวาน 6.33 เมตร ระดับน้ำวันนี้ 6.45 เมตร เพิ่มขึ้น 12 เซนติเมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.55 เมตร
- สถานีวัดโพธิ์ตาก (M11B) (เหนือแก่งสะพือ) อ.พิบูลมังสาหาร ระดับตลิ่ง 8 เมตร ระดับน้ำเมื่อวาน 5.31 เมตร ระดับน้ำวันนี้ 5.43 เมตร เพิ่มขึ้น 12 เซนติเมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.57 เมตร
2.แม่น้ำโขง
- ระดับน้ำที่ สถานี KHO อ.โขงเจียม ระดับตลิ่งสูง 14.50 เมตร ระดับน้ำเมื่อวาน 11.28 เมตร ระดับน้ำวันนี้ 10.99 เมตร ระดับน้ำลดลง 29 เซนติเมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.51 เมตร
โดยระดับน้ำมูลที่เขื่อนหัวนา ที่บริเวณหน้าเขื่อนและท้ายเขื่อนอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก และน้ำในลำน้ำมูลยังไหลระบายผ่านเขื่อนหัวนาได้เป็นปกติ โดยวางแผนที่จะลดระดับลง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อตลิ่งและสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำสายต่างๆ
ทั้งนี้ ในภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำเพื่อการป้องกันอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้มีการพร่องน้ำเปิดบานประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูลไว้ตั้งแต่ต้นฤดูฝน คือ เริ่มแขวนบานตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2567 และได้รับความร่วมมือในการพร่องน้ำจากเขื่อนที่อยู่ตอนบนจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนราษีไศล เขื่อนยโสธร เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ รวมถึงเขื่อนกั้นลำน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็ก ได้พร่องน้ำเป็นแนวทางเดียวกันมาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล จึงเป็นผลให้การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ