รายงานพิเศษ : นายสุวิชช คูณผล : ภูมิพลังแห่งเมืองนักปราชญ์

   เมื่อ : 28 ก.ย. 2567

            นายสุวิชช คูณผล เกิดวันที่ ๑๙ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ สถานที่เกิด ณ บ้านเลขที่ ๓๑๔ ถนนพิชิตรังสรรค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัด อุบลราชธานี อยู่บ้านเลขที่ ๙ ถนนพิชิตรังสรรค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรนายสวน คูณผล และนางสงวนศักดิ์ คูณผล

  • ด้านการศึกษา

- พ.ศ. ๒๔๙๒๒ ประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนอุบลวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 

- พ.ศ. ๒๔๙๘ มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

- พ.ศ. ๒๕๐๑ อาชีวศึกษาชั้นสูง โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

- พ.ศ. ๒๕๐๔ วิชาชีพชั้นสูง ปีที่ ๒ แผนกช่างก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ

  • ด้านการทำงาน

- พ.ศ. ๒๕๐๒ ช่างจัตวา กองช่างสุขาภิบาล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

- พ.ศ. ๒๕๐๔ ปลัดเทศบาลตำบลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (ชั้นตรี)

- พ.ศ. ๒๕๐๕ ปลัดเทศบาลตำบลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (ชั้นตรี-โท)

- พ.ศ. ๒๕๑๘ ปลัดเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ (ชั้นโท-ระดับ ๔)

- พ.ศ. ๒๕๒๐ เจ้าพนักงานบริหารงานเทศบาล ๕ (เทศบาลเมืองอุดรธานี ระดับ ๕)

- พ.ศ. ๒๕๒๔ เจ้าพนักงานบริหารงานเทศบาล ๕ (ปลัดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์)

- พ.ศ. ๒๕๒๕ เจ้าพนักงานบริหารงานเทศบาล ๗ (เทศบาลเมืองนครราชสีมา ระดับ ๗)

- พ.ศ. ๒๕๒๔๗ เจ้าพนักงานบริหารงานเทศบาล ๗ (ปลัดเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ระดับ ๗)

- พ.ศ. ๒๕๒๙ นักบริหารงานเทศบาล ๘ (เทศบาลเมืองนครราชสีมา ระดับ๘ )

- พ.ศ. ๒๕๓๑ นักบริหารงานเทศบาล ๘ (ปลัดเทศบาลเมืองอุบลราชธานี ระดับ ๘)

- พ.ศ. ๒๕๓๓ นักบริหารงานเมืองพัทยา ๘ (หัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา ระดับ ๘)

- พ.ศ. ๒๕๓๕ นักบริหารงานเทศบาล ๙ (ปลัดเทศบาลเมืองอุดรธานี ระดับ ๙)

- พ.ศ. ๒๕๔๐ นักบริหารงานเทศบาล ๙ (ปลัดเทศบาลนครขอนแก่น ระดับ ๙)

- พ.ศ.๒๕๔๑ นักบริหารงานเทศบาล ๙ (ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี ระดับ ๙)

   @ เกษียณอายุราชการ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ รวมรับราชการ ๓๙ ปี

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์

- พ.ศ. ๒๕๒๗ เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)

- พ.ศ. ๒๕๓๕ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)

- พ.ศ. ๒๕๓.. ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)

  • ด้านครอบครัว

            นายสุวิชช คูณผล สมรสกับ นางสมใจ คูณผล มีบุตรและบุตรี ๒ คน คือ 

          ๑. นางสาวบงกช คูณผล จบการศึกษาบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการการโรงแรม และการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาบริหารองค์การ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันเป็น นักวิชาการศึกษา คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

          ๒. นายอุเทน คูณผล การศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ ปัจจุบัน ทำงานที่ Oriental Hotel

  • ผลงานที่ภาคภูมิใจ

          ๑. ร่างคำขวัญจังหวัดอุบลราชธานี เสนอจังหวัดเพื่อพิจารณาเมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ใช้มาถึงจนทุกวันนี้

          ๒. สร้างสำนักงานเทศบาลเมืองอุบลราชธานี แบบศิลปะไทย ให้เข้ากับภูมิสถาปัตย์รอบทุ่งศรีเมือง เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ใช้เป็นแบบมาตรฐานเทศบาลทั่วประเทศ 

          ๓. สร้างสำนักงานเทศบาลอุดรธานี ๙ ชั้น และศาลาว่าการเมืองพัทยา มูลค่าแห่งละ ๑๐๐ ล้านบาท

          ๔. อนุรักษ์ทุ่งศรีเมืองให้เป็นสวนสาธารณะกลางเมืองอุบลราชธานี (ไม่ให้มีการจัดงานเพื่อการค้า)

          ๕. บูรณะหนองประจักษ์ งบประมาณ ๕๐๐ ล้านบาท เป็นสัญลักษณ์เมืองอุดรธานี

          ๖. เป็นผู้เสนอความคิด จัดงาน “สดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง)” เจ้าเมืองคนแรกผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี ขยายจากกลุ่มเชื้อสายเจ้าเมืองเดิม ออกสู่สาธารณชน ทั่วทั้งจังหวัดอุบลราชธานี, ยโสธร และอำนาจเจริญ

          ๗. เป็นผู้แทนชาวจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับทายาทเชลยศึก สงครามโลกครั้งที่ 2 จุดประกายการจัดงาน “วันแห่งความดี” ที่อนุสาวรีย์แห่งความดี ณ ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ.2550 และจังหวัดอุบลราชธานี ได้ร่วมกับชาวต่างประเทศจัดงานทุกปีตลอดมา

          ๘. เป็นผู้ศึกษาค้นคว้าเรียบเรียงความเป็นมาเกี่ยวกับ “ผ้าซิ่นไหม” ที่ชาวอุบลทูลเกล้าฯ ถวาย เนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทรงฉลองพระองค์ “ซิ่นไหม” นั้น ในวโรกาสเสด็จเยือนเมืองอุบลราชธานี เมื่อ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ 

          ๙. เขียนบทความในคอลัมน์ ”อุบลบานเบ่งเกสรขจรไกล” ในวารสาร “ข่าวหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี” เป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา ๑๐ ปี รวมบทความ ๑๒๑ เรื่อง โดยมีหลักการ ”นำความดีงามในอดีตมาฟื้นฟูเชิดชูในปัจจุบันสร้างสรรค์สืบสานสู่อนาคต” มีเป้าหมายรวมเล่มเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนรวม

          ๑๐. เสนอความคิดเชิงสร้างสรรค์ ตั้งกองทุน/มูลนิธิ ”อุบลฯ คนละบาทสืบสานปราชญ์เมืองอุบล” เพื่อแก้ไขปัญหาอันไม่พึงประสงค์ที่จะส่งผลให้เมืองอุบลราชธานีเสียหายให้หมดสิ้นไป

          ๑๑. เสนอแนวความคิดให้มี ”ภูมิพลังเมืองอุบล” จากคลังสมองของบ้านเมือง เพื่อความสมานฉันท์ในการสร้างสรรค์ อนุรักษ์ แก้ไขปัญหาด้วยปราชญาวิถี ดังสมญานาม ”อุบลเมือง นักปราชญ์”

  • เกียรติคุณที่ได้รับ

- พ.ศ. ๒๕๑๙ เหรียญกาชาดสมนาคุณชั้น ๑

            - พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกาศเกียรติคุณชั้น ๑ จากกระทรวงมหาดไทยในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ บังเกิดผลดีแก่ท้องถิ่น

            - พ.ศ. ๒๕๔๑ เกียรติคุณบัตร จากเทศบาลนครอุดรธานี เชิดชูเกียรติในการพัฒนา ปรากฏผลดีเด่น ท้องถิ่น

            - พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกาศเกียรติคุณ จากสมาคมนักบริหารงานเทศบาล ในการบริหารงาน เทศบาลด้วยดี มีความรู้ ความสามารถสูง ควรแก่การสรรเสริญ

            - พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับ ”โล่รัตโนบล” จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์ด้านวิชาการต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

            - พ.ศ. ๒๕๔๗ โล่วันพ่อดีเด่น จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อเป็นเกียรติและที่ระลึกสำหรับคุณงามความดีที่ได้รับการยกย่องเป็น “พ่อดีเด่นราชภัฏ” 

            - พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ศศ.ม.) สาขาวัฒนธรรมศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

            - พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับ ”โล่เกียรติคุณ” จากเทศบาลนครขอนแก่นในวาระฉลองครบ ๗๒ ปี แห่งการจัดตั้งฯ ในฐานะเป็นผู้วางหลักการ ”พัฒนาเทศบาลที่ยั่งยืน” เป็นผลให้เทศบาลนครขอนแก่น เจริญก้าวหน้าโดยลำดับ

            - พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับ “โล่เกียรติคุณ” จากนายกเบ็ญจะมะมหาราชสมาคมที่ได้รับการคัดเลือกเป็น “คนดี ศรีเบ็ญ” ในวาระ ๑๑๓ ปี เบ็ญจะมะมหาราช เมื่อ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๓

            นายสุวิชช คูณผล ในชีวิตข้าราชการสังกัดเทศบาล ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการออกแบบอาคารสถานที่ราชการ โดยเน้นความผสมผสานลงตัวระหว่างงานก่อสร้างที่ทันสมัยผสมผสานศิลปะไทย แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกรักและหวงแหนในความเป็นไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้สืบสานความเป็นอุบลราชธานี โดยการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาในการจัดงานประเพณีโบราณอีสานต่างๆ อาทิ งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประจำทุกปี เสนอความคิดในการจัดงานบวงสรวงพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) เป็นผู้นำในการจัดงานวันแห่งความดีกับชาวต่างประเทศ และร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ จึงสามารถเปรียบเสมือนเป็นเข็มทิศในการดูแลให้งานประเพณีอยู่ในกรอบที่ถูกต้องตามโบราณประเพณีอีสาน

นอกจากอุทิศตนในการปฏิบัติงานเพื่อสาธารณะมากมาย ทั้งก่อนและหลังเกษียณอายุราชการ สมควรแล้วที่ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ”นักปราชญ์เมือง อุบลราชธานี” คนหนึ่งอย่างแท้จริง

          @ นายสุวิชช คูณผล ถึงแก่กรรม วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๖๗ สิริอายุ รวม ๘๖ ปี

       ……..

  • ปัญญา แพงเหล่า/รวบรวม

       27 กันยายน 2567