ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน “ภูพระบาท” มรดกโลกของไทยแห่งที่ 8 และแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี
27 ก.ค. 2567 องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ประจำปี 2567 ภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” ถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2566 อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2535
โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value: OUV) ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรมสีมาหิน สมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสี
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวในโอกาสสำคัญในครั้งนี้ว่า การขึ้นทะเบียน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาสถานที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทยและประชาชนทั้งโลก อีกทั้งยังเป็นมรดกตกทอดแก่ชนรุ่นหลัง ชาวจังหวัดอุดรธานีพร้อมต้อนรับทุกท่านที่จะมาเยือนจังหวัดอุดรธานี และเยี่ยมชมมรดกโลกทั้ง 2 แห่งของจังหวัด
- เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV)
หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก แหล่งที่จะได้รับการคัดเลือกให้บรรจุอยู่ในบัญชีมรดกโลกจะต้องมีคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างน้อย 1 ข้อจากที่ได้กำหนดไว้ทั้งหมด *10 ข้อตามแนวทางอนุวัติตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention ดังนี้ (*ข้อ 1 - 6 เป็นเกณฑ์ของมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ ข้อ 7 – 10 เป็นเกณฑ์ของมรดกโลกทางธรรมชาติ)
1. เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรม หรือตัวแทนของความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดยิ่ง
2. เวลาใดเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่วัฒนธรรมใดๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมหรือทางเทคโนโลยี อนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนบ้านเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์
3. เป็นเอกลักษณ์ หายากยิ่ง หรือเป็นของแท้ดั้งเดิม ที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว
4. เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม
5. เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัด หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม วิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่ายเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
6. มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ที่เกี่ยวข้องกับความคิดหรือความเชื่อกับงานศิลปะและวรรณกรรมที่มีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
7. เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเห็นได้ชัด หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้
8. เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงวิวัฒนาการความเป็นมาของโลกในช่วงเวลาต่างๆ กัน ซึ่งรวมไปถึงร่องรอยของสิ่งมีชีวิตหรือกระบวนการทางธรณีวิทยาที่สำคัญอันทำให้เกิดรูปลักษณ์ของแผ่นดินหรือลักษณะธรณีสัณฐาน หรือลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ
9. เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยา และชีววิทยาซึ่งก่อให้เกิดและมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก หรือระบบนิเวศน้ำจืด หรือระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล และสังคมสัตว์และพืช
10. เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก
*ข้อมูลจาก: สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- 8 มรดกโลกของไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกโลกรวมจำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย มรดกโลกทางวัฒนธรรมจำนวน 5 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติจำนวน 3 แห่ง ดังนี้
1. มรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 5 แห่ง
1.1 เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย (ขึ้นทะเบียนปี พ.ศ. 2534)
1.2 นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร จ.พระนครศรีอยุธยา (ขึ้นทะเบียนปี พ.ศ. 2534)
1.3 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี (ขึ้นทะเบียนปี พ.ศ. 2535)
1.4 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (ขึ้นทะเบียนปี พ.ศ. 2566)
1.5 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี (ขึ้นทะเบียนปี พ.ศ. 2567)
2. มรดกโลกทางธรรมชาติ จำนวน 3 แห่ง
2.1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก (ขึ้นทะเบียนปี พ.ศ. 2534)
2.2 กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ จ.สระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ (ขึ้นทะเบียนปี พ.ศ. 2548)
2.3 กลุ่มป่าแก่งกระจาน ครอบคลุมพื้นที่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ (ขึ้นทะเบียนปี พ.ศ. 2564)
- นายกฯ ย้ำไทยพร้อมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องแหล่งมรดกโลกทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาที่พิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา เป็นตัวแทนวัฒนธรรมสีมาที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยทวารวดีที่มีอายุราวศตวรรษที่ 8 และนับเป็นแหล่งที่ตั้งแหล่งใบเสมาที่ใหญ่ที่สุดของโลก การขึ้นทะเบียนภูพระบาท เป็นมรดกโลกในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อไทย และนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นต่อไปในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องแหล่งมรดกโลกในทุกระดับ ตลอดจนดำเนินการยกระดับการมีส่วนร่วมในการวิจัยทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติอีกทางหนึ่ง และหวังว่าจะได้ต้อนรับทุกคนในการเดินทางมาเยือนไทย เพื่อเยี่ยมชมภูพระบาท ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับล่าสุดของไทย
การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21- 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งที่ประชุมมีการพิจารณาการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทย 2 วาระ ได้แก่ 1) การพิจารณาให้ความเห็นชอบการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก และ 2) การพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก และเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็นแหล่ง “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” โดยมติของคณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบให้ขึ้นทะเบียนภูพระบาท เป็นมรดกโลกด้วยเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ในกลุ่มของภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landscape)
- รู้จัก “ภูพระบาท” มรดกโลกแห่งที่ 8 ของไทย
ความโดดเด่นของภูพระบาทนั้น มีพื้นที่ที่จะใช้ประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกประมาณ 3,661 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ของกรมป่าไม้ และพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน เป็นมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าเขือน้ำ) บนเทือกเขาภูพาน อยู่ทางทิศตะวันตก ห่างออกมาประมาณ 12 กิโลเมตร จาก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
จากหลักฐานโบราณคดีพบว่า บริเวณนี้มีมนุษย์เข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานสำคัญ คือ ภาพเขียนสี อยู่ตามเพิงหิน ที่ปรากฏกระจายอยู่ภายในอุทยานฯ มากกว่า 47 แห่ง มีทั้งภาพคน ฝ่ามือ สัตว์ และลวดลายเรขาคณิต ชี้ให้เห็นถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว มีความสัมพันธ์กับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการค้นพบขวานหินขัด ลูกปัดอาเกต และเศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน ที่พบอยู่ตามที่ราบริมลำน้ำโมงเชิงเขาภูพาน
ทั้งนี้ กรมศิลปากรตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพของโบราณสถาน โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เนื่องจากพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยอารยธรรม และความเชื่อของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 3,000 ปี และยังเห็นว่าในพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนในเขตภูมิภาคอีสาน ทั้งฝั่งไทยและลาวได้มีการใช้พื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
*ข้อมูลจาก : สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดอุดรธานี
กรมศิลปากร ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน และชื่นชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม - 12 สิงหาคม 2567 โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จัดทำแผนบริหารการจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการอนุรักษ์ และต่อยอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมสีมาในประเทศไทย รวมทั้ง การพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เหมาะสม ภายหลังการได้รับประกาศเป็นมรดกโลก ถือเป็นอีกความสำเร็จตามนโยบายเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และพัฒนา ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ถือว่ารัฐบาลได้ส่งเสริมศักยภาพมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย ให้ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกเป็นอีกเครื่องยืนยันถึงความสามารถในการอนุรักษ์สถานที่สำคัญ เป็นเอกลักษณ์ และเป็นประจักษ์พยานอันโดดเด่นของวัฒนธรรมไทย ที่ได้รับการรักษาและสืบทอดมาอย่างยาวนาน
- รัฐบาลพร้อมเดินหน้าผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง
จากนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวัฒนธรรมของรัฐบาล ขณะนี้ประเทศไทยได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกที่รอการสนับสนุน และผลักดันเข้าสู่บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่
1. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555)
2. อนุสรณ์สถาน แหล่งต่างๆ และภูมิทัศน์วัฒนธรรมของเชียงใหม่ นครหลวงของล้านนา กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558)
3. พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560)
4. กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทปลายบัด (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562)
5. สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา (ขึ้นบัญชีเบื้องต้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567).