“ประเสริฐ จำปาวัลย์” ช่างเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า ภูมิปัญญา เมืองอุบลราชธานี
งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2567 ผ่านไปด้วยดี สร้างความประทับใจให้ประชาชน นักเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ต่อการสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่นของชาวอุบลให้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาชาวโลก
แน่นอนว่าหนึ่งในการรังสรรค์เทียนพรรษา ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งคือ “ช่างเทียนพรรษา” ซึ่งนับเป็นมรดกล้ำค่าและภูมิปัญญาของเมืองอุบลฯ ...วันนี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยและเก็บบทสัมภาษณ์ของ คุณประเสริฐ จำปาวัลย์ หนึ่งในช่างเทียนพรรษาอันเลื่องชื่อมาฝากกัน
“การสร้างงานเทียนพรรษาของผมในปีนี้ ผมพยายามทำดีที่สุดแล้วครับ แต่ยังไม่อธิบายวิธีการทำงานของผม ดังนั้นผมขออธิบายวิธีการและแนวความคิดในการสร้างงานเทียนพรรษาสกุลช่างเขมราฐก่อนครับ ก่อนอื่นขอให้ดูการจัดวางองค์ประกอบดูเส้นสายในการวางองค์ประกอบของหุ่นแต่ละตัวในการจัดวาง เพราะผมได้ศึกษาวิชาองค์ประกอบศิลป์จาก อาจารย์จุฑา ขำเปรมศรี ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพและระลึกถึงเสมอเวลาทำงาน อาจารย์นัดมาสอนแม้แต่วันอาทิตย์โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ท่านเสียสละเพื่อลูกศิษย์
...คำว่าองค์ประกอบศิลป์สำหรับผม ต้องแยกคำครับ คำแรกคือคำว่าองค์ซึ่งหมายถึงหนึ่ง คำที่สองคือประกอบคือการประกอบกันเข้า คำที่สามคือศิลปะซึ่งหมายถึงความงาม ดังนั้นคำว่าองค์ประกอบศิลป์ก็คือการนำความงามประกอบเข้าให้เป็นหนึ่ง คำนี้อยู่ในใจผมเสมอ การที่ผมออกแบบให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากันฐกะ และมีนายฉันนะเกาะหางม้าไปให้มีความรู้สึกเบาและเหาะได้ ผมได้วางเส้นสายจากหางนาคราชเทพบุตรสู่เส้นสันครีบของปลาส่งขึ้นหานายฉันนะและม้ากันฐกะ สู่เจ้าชายสิทธัตถะให้ดูเบาและเหาะได้ เอาใจใส่แม้แต่เชือกและผ้าให้สะบัดโดนลม นี่คือแนวทางและความคิดในนามช่างเขมราฐครับ
...ครับที่ผมอธิบายมานี้เพื่อเป็นข้อมูลและข้อมูลนั้นต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องไม่ตกแต่งและสร้างขึ้นให้ดูงามแค่นั้น มันต้องออกมาจากความจริงและจริงใจครับ
นี่คือแนวคิดตามวิถีศิลปะประทังชีวิตของช่างเทียนเขมราฐตัวจริงครับ.