เล่าเรื่อง เมืองอุบล EP.28 : เมืองนักปราชญ์ สูญเสีย “คำปุน ศรีใส” ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๖๑
ประวัติโดยย่อ นางคำปุน ศรีใส เกิดเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ที่คุ้มวัดกลาง ตำบลยโสธร อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนสามัคคีวัฒนา เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๘๕
นางคำปุน ได้รับการปลูกฝังอบรมจากครอบครัวให้เป็นคนดี มีจิตใจโอบอ้อมอารี และได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมการทอผ้าที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะจากคุณยายและคุณแม่น้อย ศรีใส ทำให้นางคำปุน รักและชื่นชมศิลปะการทอผ้า แม้เมื่อมีครอบครัวกับนายเตียซ้ง แซ่แต้ ซึ่งมีอาชีพค้าขาย ทำให้ต้องหยุดการทอผ้าเพื่อไปประกอบอาชีพตามสามี แต่นางคำปุน ศรีใส ได้ซึมซับการทอผ้าเป็นชีวิตจิตใจ จึงทำให้หวนกลับมายึดอาชีพทอผ้าอีกครั้ง นางคำปุน จึงได้พัฒนาการทอผ้าไหมและขยายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนอย่างจริงจังที่ถนนผาแดง พร้อมกับเปิดร้านคำปุน ขายผ้าที่หน้าตลาดใหญ่ ส่วนศิลปะการทอผ้าไหมก็ได้พัฒนาลวดลายให้วิจิตรพิสดาร โดยยึดรากฐานการทอผ้าอีสาน คือ หมี่ ขิด ยก และ จก เป็นพื้นฐาน และพัฒนาผ้าไหมให้มีลวดลายหลากหลายยิ่งขึ้น ทำให้นางคำปุนได้รับอนุญาตให้ขยายโรงทอผ้าไหมด้วยกี่ ๒๔ หลัง โดยใช้ชื่อว่าโรงทอผ้าไหมคำปุน
นางคำปุน ศรีใส ยังได้มีการถ่ายทอดให้บุตรชาย เป็นผู้สืบสานตำนานผ้าไหมคำปุนดำเนินกิจการแทน จึงทำให้ผ้าไหมคำปุนก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง ผ้าแต่ละผืนได้ออกแบบผสมผสานรากฐานเดิม กับเทคนิคสมัยใหม่ ทำให้ผืนผ้ามีความวิจิตรพิสดาร เพิ่มมูลค่า มีราคาผืนละเรือนหมื่นเรือนแสน
ปัจจุบันโรงทอผ้าไหมคำปุน ได้ทอผ้าหลายชนิด คือผ้าไหมสีต่างๆ ผ้าไหมมัดหมี่ชนิด ๒ ตะกอ ๓ และ ๔ ตะกอ รวมถึงผ้าไหมยกเงินผ้าไหมยกทอง โดยผ้าที่มีชื่อเสียงของบ้านคำปุน คือ ผ้าไหมมัดหมี่ผสมการจก (การปัก) ด้วยไหมสีต่างๆ มีทั้งไหมเงินไหมคำลงบนผืนลายผ้า ช่วยให้ผ้ามีความงดงามวิจิตรตระการตามากขึ้น อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอันโดดเด่นของผ้า
จากความคิด ปรัชญาและความสามารถในการสร้างสรรค์งานฝีมือด้วยลวดลายที่เต็มไปด้วยศิลปะ กลับบ่งบอกถึงความเป็นอัจฉริยะในทางความคิด และการออกแบบที่งดงามแปลกตา อีกทั้งทรงคุณค่าอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง
ผลงานของ นางคําปุน ศรีใส นั้นจะมีความโดดเด่นที่ความประณีตของเส้นใย และการให้สีหลากหลายที่ผสมกลมกลืนกันได้อย่างสวยงาม เป็นที่กล่าวขวัญกันในเชิง “ผ้ามีระดับ” ทั้งนี้ ก็ด้วยกรรมวิธีในการทอ ตลอดจนการให้สีผ้าและการเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ ที่มีความละเอียดประณีตในทุกขั้นตอน ผ้าคําปุนได้รับความสนใจจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงของประเทศนําไปใช้ในพิธีการต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ในการหมั้น การเข้าเฝ้า เป็นต้น และยังได้ใช้เป็นเครื่องแต่งกายของตัวเอกในภาพยนตร์เรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร”
นางคำปุน ศรีใส สร้างความดี ความงาม ด้วยพลังกาย พลังใจ ด้วยสติปัญญาและพลังศรัทธา จึงส่งผลให้ นางคำปุน ศรีใส รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากองค์กรต่างๆ และที่น่าชื่นชม เหนือสิ่งอื่นใดคือผลงาน แห่งอัจฉริยภาพในการทอผ้าไหม อันเป็นการสืบสานใยตำนานผ้าพื้นเมืองให้คงอยู่
นางคำปุน ศรีใส ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (หัตถกรรมผ้าทอ) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเกียรติประวัติสืบไป และในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) นับเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป
นางคำปุน ศรีใส ถึงแก่กรรม วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๓๘ น. สิริอายุ ๙๑ ปี และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ เมรุชั่วคราว วัดศรีอุบลรัตนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
………..
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน
16 กรกฎาคม 2567