ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบอันตรายถึงชีวิต แนะ !! ควรตรวจสุขภาพประจำปี ลดเครียด ลดเสี่ยงโรค

   เมื่อ : 18 ก.ค. 2567

            นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคความดันโลหิตสูง คือ ผู้ที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โรคความดันโลหิตสูงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ 

            1) ความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ (essential/primary hypertension) คือ ภาวะความดันโลหิตสูงที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด และยังไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะเกิดในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป มักจะเกิดจากพันธุกรรม และสภาพแวดล้อม เช่น คนในครอบครัวมีประวัติของโรคความดันโลหิตสูง การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือการที่มีน้ำหนักตัวเกิน รวมถึงโรคร่วมอื่นๆ ที่มีผลทางอ้อมที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตเสื่อม โรคนอนกรน 

            2) ความดันโลหิตสูงแบบทุติยภูมิ (secondary hypertension) คือ ภาวะความดันโลหิตสูงที่มีสาหาตุมาจากโรค ภาวะ สารหรือยาบางอย่างที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตสูงจากโรคที่เกี่ยวกับระบบไต ระบบหลอดเลือด หรือระบบต่อมไร้ท่อ รวมไปถึงการใช้ยาหรือสารบางอย่าง ที่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งการรักษาจากสาเหตุตั้งต้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถทำให้ความดันกลับมาเป็นปกติได้ หากพบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ไปพบแพทย์เพื่อรับยารักษา ลดการบริโภคอาหารรสเค็ม งดดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และลดความเครียดจากการทำงาน จะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง. 

Cr. : กรมการแพทย์

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ