“ดิจิทัลวอลเล็ต” เตรียมสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ปลายปี’67 รัฐยืนยัน ปชช.รับเงินได้ปลายปีนี้
19 มิ.ย. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำเป็น 2568 ระบุว่า ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุน สร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป สำหรับการใช้งบประมาณในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่มีคำว่าหมกเม็ดแน่นอน
10 เม.ย. 2567 นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กล่าวว่า รัฐบาลมีความยินดีที่แจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลที่จะยกระดับเศรษฐกิจระดับประเทศ และระดับประชาชนได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยรัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดในการก้าวผ่านอุปสรรค เดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ใส่เงินระบบเศรษฐกิจกระจายไปทุกพื้นที่ให้ถึงฐานราก ท้องถิ่น-ชุมชน โดยดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ซึ่งประชาชนและร้านค้าจะสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส 3 และเงินจะส่งตรงถึงพี่น้องประชาชนในไตรมาส 4 ของปีนี้
- กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนกระจายไปทุกพื้นที่ให้ถึงฐานราก
นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี อันจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ตลอดจนยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจและสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและยังก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอีกด้วย
- มอบสิทธิให้ประชาชน 50 ล้านคน คาดเศรษฐกิจขยายตัว ร้อยละ 1.2 - 1.6
ในส่วนของความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ จะเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ผ่าน Digital Wallet วงเงิน 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 1.2 ถึงร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการฯ โดยรัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยกระบวนการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การดำเนินโครงการฯ จะต้องเป็นไปโดยซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
- แหล่งที่มาของเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังชี้แจงเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินในโครงการฯ ว่า ตามที่กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณได้รับมอบหมายให้ไปพิจารณาแหล่งเงินทางเลือก วงเงิน 500,000 ล้านบาท ขณะนี้มีคำตอบให้คณะกรรมการนโยบายฯ แล้วว่า วงเงิน 500,000 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยจะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 ส่วน ได้แก่
1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อยแล้ว
2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร จำนวน 17 ล้านคนเศษ ผ่านกลไกมาตรา 28 ของงบประมาณปี 2568
3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อรวมวงเงินส่วนที่ 1-3 เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) พ.ร.บ.งบประมาณ และ พ.ร.บ.เงินตรา โดย ณ วันที่เริ่มโครงการช่วงปลายปีจะมีเงิน 500,000 ล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือการใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ขอยืนยันเรื่องแหล่งเงินและความมั่นใจว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
- กลุ่มเป้าหมายและเงื่อนในการดำเนินโครงการ
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบในหลายประเด็น โดยเรื่องแรกคือเรื่องของสาเหตุและความจำเป็นในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบ ดังนี้
1. เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
2. เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำหลังจากช่วงโควิด 19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งบั่นทอนด้านกำลังซื้อของประชาชน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการฯ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบัน ควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลังรวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
- เงื่อนไข คุณสมบัติ ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท
1. คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป
2. มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท/ปี (70,000 บาท/เดือน)
3. เงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท
- กรณีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน แต่เงินฝากเกิน 500,000 บาท จะไม่ได้รับสิทธิ
- กรณีรายได้เกิน 70,000 บาทต่อเดือน แต่เงินฝากน้อยกว่า 500,000 บาท จะไม่ได้รับสิทธิ
- เงื่อนไขการใช้จ่าย
1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า: ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (Face to Face) กำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
2. ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า: ร้านค้าที่จะรับการใช้จ่ายจากประชาชนต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า
3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้าบางประเภท (Negative List) เช่น สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถพิจารณากำหนด Negative List เพิ่มเติมได้ โดยการใช้จ่ายตามโครงการฯ ไม่รวมถึงบริการ
4. ใช้จ่ายผ่าน Super App ที่พัฒนาต่อยอด โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยระบบการใช้จ่ายระหว่างประชาชนและร้านค้าเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของทุกรายการใช้จ่ายตามเงื่อนไข และมีระบบตรวจสอบธุรกรรม (Transaction)
5. ร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
คุณสมบัติของร้านค้าที่จะถอนเงินจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ใน 3 ประเภท คือ
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT)
3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับการถอนเงินสด ร้านค้าไม่สามรถถอนเงินได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่จะถอนเงินสดได้ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงทุจริตของโครงการฯ และเพิ่มผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
เปิดให้ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 (ประชาชนกับร้านค้า) ต้องใช้ภายใน 6 เดือน และรอบสอง (ร้านกับร้านค้า) ยังไม่มีกำหนด แต่ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ จะต้องไม่เกินเดือนกันยายน ปี 2569
- ครม. เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท
4 มิ.ย. 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่ สำนักงบประมาณเสนอ วัตถุประสงค์ของการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯ คือ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของแหล่งวงเงินงบประมาณรองรับโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ
- ไทม์ไลน์งบฯ เพิ่มเติมปี 67 และการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
23 เม.ย. 2567 ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยใช้จ่ายจาก 3 แหล่งเงิน ได้แก่
1) การบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท
2) การดำเนินการผ่านหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท
3) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท
Ø 21 พ.ค. 2567 มติ ครม. เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่กำหนดให้ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วยกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ร่วมกันพิจารณาทบทวนประมาณการรายได้ กำหนดนโยบายกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ระหว่าง วันที่ 29 - 31 พฤษภาคม 2567 เพื่อนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบในวันที่ 4 มิถุนายน 2567
Ø 28 พ.ค. 2567 ครม. เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 68-71) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ประกอบกับตามปฏิทินงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 กำหนดให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบนโยบายงบฯ วงเงินงบฯ และโครงสร้างงบฯ เพิ่มเติมปี 2567
Ø 4 มิ.ย. 2567 ครม. เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท สำหรับเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้จำนวน 10,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 112,000 ล้านบาท
Ø การดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องลงทะเบียนผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการให้ทันภายในปีงบฯ 2567 เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบฯ เพิ่มเติมปี 2567 ได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 และสอดคล้องตาม มาตรา 21 ของ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 21 กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วย).