มติ ครม.กระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง จัดอบรม-สัมมนา และท่องเที่ยว รับส่วนลดหย่อนภาษี 1.25 – 2 เท่า

   เมื่อ : 05 มิ.ย. 2567

            นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เผย ครม.เห็นชอบมาตรการภาษี กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกำหนดการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดา บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการท่องเที่ยวและการจัดการอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง และจังหวัดท่องเที่ยวอื่น ๆ ช่วง low season ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และขอส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เพื่อเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยทั้ง 2 มาตรการ มีระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567- 30 พฤศจิกายน 2567

  • ออก 2 มาตรการ ช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ

          1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่ชำระค่าบริการไปตั้งแต่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567 โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น ทั้งนี้ สำหรับค่าขนส่ง สามารถจ่ายให้ผู้ที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ซึ่งจะต้องมีใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้แก่

1.1 สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

1.2 สามารถหักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก)

1.3 ในกรณีที่การจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1.1 หรือข้อ 1.2 แล้วแต่กรณีและให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด 

1.4 พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ จังหวัดท่องเที่ยวรอง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยภูมิ เชียงราย นครพนม พัทลุง สุพรรณบุรี ลำปาง เป็นต้น และพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด เช่น อ.เขาพนม อ.ลำทับ ใน จ.กระบี่ อ.บ้านบึง อ.พานทอง ใน จ.ชลบุรี เป็นต้น (หักรายจ่ายได้ 2 เท่า) พื้นที่อื่น (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร (หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า)

          2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) 4 สิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าบริการ ได้ดังนี้

2.1 ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

2.2 ค่าที่พักในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

2.3 ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย

2.4 ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

            สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม -30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) ทั้งนี้ จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรด้วย โดย พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ สำหรับจังหวัดท่องเที่ยวรองเท่านั้น

  • กระทรวงการคลัง ประมาณการการสูญเสียรายได้ของรัฐ 

1. การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) 

จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จำนวน 2,000 ราย ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการสัมมนารายละ 3 ล้านบาท รวมประมาณ 6,000 ล้านบาท

2. การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 581.25 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนบุคคลธรรมดาที่คาดว่าจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 250,000 ราย

  • ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

            ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวย้ำว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง Low Season มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ.