รายงานพิเศษ : การศึกษาไทย ก้าวหน้า.. หรือล้าหลัง..
ความเป็นมา : ในปี พ.ศ. 2516-2523 จากปัญหาของการจัดการศึกษาประชาบาลภายใต้การบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดดังกล่าว และจากเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การจัดการศึกษาของไทย จนต้องมีการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางของคณะกรรมการ วางพื้นฐานการปฏิรูปการศึกษา ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาในประเทศไทยหลายอย่าง เช่น การประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2520 แทนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ.2521 หลักสูตร มัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ.2521 และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2524 แผนพัฒนา การศึกษาฉบับที่ 4 พ.ศ.2520-2524 และแผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529 รวมทั้งได้มีการโอนการศึกษาประชาบาลที่เคยสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมด และโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดกรมสามัญศึกษาบางส่วนมาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานระดับกรมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อ รองรับการจัดการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2523
ความสำคัญ : ต่อมาเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2516 ฉบับที่ 26 พ.ศ.2523 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2523 และมีฐานะเป็นกรมในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อดำเนินการ จัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และภายหลังได้ขยายการจัดการศึกษา ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นตามนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษานั้น การบริหารราชการของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนกับหน่วยราชการอื่น คือ มีการจัดการบริหารหน่วยงานทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับโรงเรียน ในรูปของคณะกรรมการซึ่งถือเป็นการบริหารงานโดยองค์คณะบุคคล และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระจายอำนาจทางการศึกษาอย่างหนึ่ง
แม้ว่าจะควบคุมนโยบายโดยหน่วยงานส่วนกลาง แต่ก็มีอิสระในการบริหารงานในส่วนจังหวัดพอสมควร และมีความพยายามที่จะให้สถานศึกษาในสังกัด คือ โรงเรียนมีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารงานในพื้นที่มากขึ้น ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2523 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ที่ได้กำหนดให้มี คณะกรรมการเพื่อบริหารการจัดการประถมศึกษาในทุกระดับ และให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม คือ ระดับประเทศมีคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วยรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้แทนข้าราชการครูแล้ว ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นประชาชนที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 6 คน และระดับจังหวัด คือ คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนข้าราชการครู ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ แต่งตั้งจำนวน 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดเลือกจากประชาชนในจังหวัด จำนวน 3 คน ร่วมเป็นคณะกรรมการ….
ปี พ.ศ.2530 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้กรมสามัญศึกษาดำเนินการเปิดโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับตำบล ตามนโยบายการขยายโอกาสทางการศึกษา แต่ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณอันจำกัดและต้องใช้เวลาอีกยาวนานอาจถึง 20 ปี จึงจะสามารถเปิดโรงเรียนได้ครบทุกตำบล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5,000 ตำบล ทั่วประเทศ
เพื่อการสนองตอบนโยบายโดยฉับพลัน จึงหันมามองโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีสรรพกำลังปัจจัยค่อนข้างมากทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ สถานที่และภารกิจหลักที่รับผิดชอบการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษาอันเป็นการศึกษาพื้นฐานอยู่แล้ว ปี พ.ศ.2533 วันที่ 22 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ดำเนินการโครงการนำร่องขยายโอกาสทางการศึกษา เป็น 9 ปี
วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2533 มีโรงเรียนในโครงการนำร่องขยายโอกาสทางการศึกษา 119 โรงเรียน มีนักเรียนทั้งหมด 4,800 คนและรัฐบาลชุดต่อมา ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดไว้ในนโยบายสังคมแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2534 ความว่า “เร่งขยายโอกาสและบริการทางการศึกษาในและนอกระบบให้กว้างขวางและทั่วถึง เพื่อยกระดับการศึกษาพื้นฐานให้ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นอย่างต่ำ...”
ปี พ.ศ.2534 วันที่ 4 พฤษภาคม คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ดำเนินการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ส่วนภูมิภาคอย่างทั่วถึงเพราะศาสตราจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นมีแนวคิดที่จะไม่ดำเนินการในลักษณะโครงการนำร่อง แต่จะขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างรวดเร็ว โดยเป้าหมายอยู่ที่ 4,200 โรงเรียน ตามจำนวนกลุ่มโรงเรียน ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เริ่มจากปีการศึกษา 2534 จำนวน 1,000 โรงเรียน ปีการศึกษา 2535 จำนวน 1,000 โรงเรียน ปีการศึกษา 2536 จำนวน 1,000 โรงเรียน ปีการศึกษา 2537 จำนวน 984 โรงเรียน รวมกับโครงการนำร่อง ซึ่งเปิดแล้ว 216 โรงเรียน เป็น 4,200 โรงเรียน นอกจากนั้นก็ให้เป็นภาระของกรมสามัญศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กรมการศึกษานอกโรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันรับผิดชอบ
การดำเนินการที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหา 4 ด้าน คือ
1. ด้านหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน หลักสูตรส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาสาระความรู้ ระดับชาติและสากล จนแทบจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ตัวผู้เรียน จนทำให้ผู้เรียน ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักชุมชน ไม่รู้ว่าความเป็นไทยคืออะไร ท้องถิ่นของตนมีความเป็นมาอย่างไร มีทรัพยากรอะไรบ้าง และยังขาดบุคลากรที่มีความสามารถเพียงพอในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นด้วย สำหรับกระบวนการเรียนการสอนยังเน้นความจำมากกว่าการฝึกฝนให้เกิดทักษะ หรือการศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2. ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา ครูยังขาดทักษะในการคิด วิเคราะห์ ขาดความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ และยังเน้นการสอนโดยการบอกและให้เด็กท่องจำ เน้นเนื้อหาวิชาความรู้ มากกว่าการอบรมปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็ก และยังไม่สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ จากสิ่งต่างๆ ใกล้ตัวได้ ขณะเดียวกันครูยังได้รับการพัฒนาไม่เพียงพอและไม่ต่อเนื่อง
3. ด้านการบริหารจัดการ เป็นลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ไม่มีความคล่องตัวในการบริหารงาน สถานศึกษาขาดอำนาจการตัดสินใจในการจัดการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่นไม่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและรับผิดชอบการจัดการศึกษาภายในท้องถิ่น การจัดการศึกษายังไม่เป็นเอกภาพ มีความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. ด้านคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ปัจจุบันการจัดการศึกษามีคุณภาพแตกต่างกันมากระหว่างเมืองกับชนบท โรงเรียนขนาดใหญ่กับโรงเรียนขนาดเล็ก ขาดระบบการตรวจสอบ ควบคุม
และประกันคุณภาพการศึกษา
การศึกษาไทยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาและความล้มเหลวที่เกิดขึ้น จากการจัดอันดับตามรายงานของ World Economic Forum ในปี พ.ศ.2555 - 2556 ระบุว่าประเทศไทยมีอันดับคุณภาพทางการศึกษาลำดับสุดท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ โดยคนไทยกว่าร้อยละ 87 เชื่อว่าการศึกษาไทยอยู่อันดับสุดท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนจริง ซึ่งมูลเหตุที่สำคัญมาจากปัญหาที่สะสมมานานหลายประการอันเกิดมาจากระบบการเรียนการสอน หลักสูตร ครูผู้สอน โอกาสการเข้าถึงการศึกษา รวมไปถึงคุณภาพของนักเรียนไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณทางการศึกษาสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่างบประมาณส่วนใหญ่ทุ่มเทไปที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน มากกว่าอาชีวศึกษาค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของอาชีวศึกษา
นอกจากนี้แม้จะจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นจำนวนมาก แต่ยังพบปัญหาโอกาสการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้มีฐานะและผู้ไม่มีฐานะ
โดยหลักสูตรของไทยไม่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพที่ตรงตามความสามารถของผู้เรียน เมื่อรวมเข้ากับค่านิยมของสังคมทำให้การจัดหลักสูตรของไทยไม่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน…
การดำเนินงานตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา จากปี 2535-2567 มีโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ เปิดสอนขยายโอกาส(ม.1-3) จำนวน 6,855 โรงเรียน ซึ่งในปี 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการอนุมัติงบประมาณอุดหนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 โรงเรียนขยายโอกาส สำหรับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 200 วัน/ปีการศึกษา จำนวน 7,344 แห่ง จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 575,983 คน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 2,955.57 ล้านบาท โดยมีผลในปีงบประมาณ พ.ศ.2568
นับเป็นการแก้ปัญหาเรื่องโครงการอาหารกลางวัน สำหรับโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา (ม.1-3) มีอาหารกลางวันรับประทาน ซึ่งที่ผ่านหลายสิบปี นักเรียนต้องจัดหาอาหารมาเอง และมีโรงเรียนบางแห่งจัดสรรแบ่งปันให้รับประทานร่วมกันชั้นประถมศึกษา ซึ่งผิดระเบียบและผู้บริหารและครูผู้รับผิดชอบต้องถูกลงโทษ ทั้งวินัยอาญา
จากมติ ค.ร.ม. ครั้งนี้ อาจมีคำถามตามมาคือ นักเรียนชั้น ม.1-3 ในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ไม่ใช่โรงเรียนขยายโอกาส จะต้องจัดหาอาหารรับประทานเอง เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่รู้จบ ..
นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้บริหารและครูในพื้นที่มีหลายประเด็น ขอยกตัวอย่าง ดังนี้
@ โครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งโรงเรียนจะมอบให้ครูรับผิดชอบทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้าง พิจารณาวัสดุอุปกรณ์มีกรรมการตรวจรับ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เป็นการสร้างภาระให้ครู มีผลกระทบต่อการเรียนการสอน นอกจากโครงการอาหารกลางวันแล้ว ยังมีโครงการต่างๆ อีกมากมาย ควรจะหาแนวทางแก้ปัญหา เหมือนโรงพยาบาล จัดอาหารวันละ 3 มื้อ ทางโรงพยาบาลไม่ได้มอบให้พยาบาลจัดหาและจัดทำอาหารให้คนป่วยรับประทาน โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน
@ การจัดการศึกษาซ้ำซ้อน คือ ปัญหาโรงเรียนขยายโอกาสของ สพฐ. ซึ่งในอดีต สปช.จัดโครงการขยายโอกาสเพื่อรองรับและส่งเสริมเด็กจบ ป.6 ได้เรียนต่อ ม.1-3 ใกล้บ้าน ต่อมามีการพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียนในฝัน และโรงเรียนมัธยมมีความพร้อม และกระจายครอบคลุมอยู่ทุกพื้นที่ จนทับซ้อนกับโรงเรียนขยายโอกาส มีปัญหาตามมาหลากหลาย ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาที่ขยายโอกาส ควรจะยุบชั้น (ม.1-3) ให้โรงเรียนมัธยมศึกษาที่อยู่ในเขตบริการเดียวกันจัดอย่างมีคุณภาพ (มีงานวิจัยชัดเจน) ซึ่งผลกระทบคือโรงเรียนมัธยม มีจำนวนนักเรียนลดลง และอาจต้องยุบรวมแบบโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่ก้าวหน้าหรือล้าหลัง
สำหรับจังอุบลราชธานี มีโรงเรียนขยายโอกาส ที่ทับซ้อนกับโรงเรียนมัธยม หลายแห่งหลายพื้นที่ ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน คือ โรงเรียนนารีนุกูล 2 (สายมัธยม) กับโรงเรียนชุมชนบ้านหัวเรือ (สายประถม) ทั้ง 2 โรงเรียนต้องรับนักเรียนในเขตบริการชุมเดียวกันและคุณภาพผู้เรียนไม่แตกต่างกัน และยังมีโรงเรียนขยายโอกาสทั่วประเทศที่ประสบปัญหาคล้ายกัน สพฐ.ควรทบทวนและรีบแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้บรรลุตามเป้าหมาย และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป.
- ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน