ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชนฉลอง Pride Month ดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQ+ สร้างเม็ดเงินในประเทศ 4,500 ลบ.
- ททท. เตรียมแผนเฉลิมฉลอง Pride Month คาดสร้างเงินหมุนเวียนกว่า 4 พันล้านบาท
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลักดันสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเปิดรับความหลากหลาย เท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ศาสนา สัญชาติ หรือสถานะทางสังคม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกในฐานะศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub) และวางแผนเตรียมจัดงานเฉลิมฉลอง Pride Month ในเดือนมิถุนายน 2567
โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กำหนดนโยบายสนับสนุนความเสมอภาคเท่าเทียม ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Top LGBTQ Friendly Destination ควบคู่ไปกับการสร้างพันธมิตรการท่องเที่ยว ขยายเครือข่ายทางธุรกิจ และดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQ ต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ชื่นชอบการเดินทาง และมีระยะเวลาพำนักยาวกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปให้เลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว Pride Friendly ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดและช่วยเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและบริการของไทย จากข้อมูลของ LGBT Capital ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยติดอันดับ 4 ของโลก ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ สูงที่สุด ซึ่ง ททท. คาดว่าการจัดงาน Pride Month ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ จะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 860,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท
- ร่วมมือกับเอกชนจัดงานหลายพื้นที่ กระตุ้นการท่องเที่ยวทั่วประเทศ
สำหรับกำหนดการจัดกิจกรรม Pride Month ททท. ร่วมกับภาคเอกชนจัดงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น
- งาน Colorful Pride Festival ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2567 ประกอบด้วย กิจกรรมการเดินขบวนของ LGBTQ การแสดงคอนเสิร์ต และนิทรรศการศิลปะ
- งาน Bangkok Pride Festival 2024 ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2567 ประกอบด้วย กิจกรรมการเดินขบวน Bangkok Pride มหกรรมการแสดงศิลปินแดร็ก (Drag) การประชุมและสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ
- งาน Pride Nation Samui International Pride Festival ณ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 24 – 29 มิถุนายน 2567 ภายในงานมีการรวมศิลปิน LGBTQ ระดับประเทศและนานาชาติเข้าร่วมงานด้วย เป็นต้น
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณความร่วมมือการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เพื่อเดินหน้าผลักดันความเท่าเทียมความเสมอภาค สนับสนุนความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ร่วมดำเนินมาตรการรองรับและอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่เลือกเดินทางมาฉลอง Pride Month ในไทย โดยนายกรัฐมนตรีจะร่วมเดินขบวนพาเหรด Bangkok Pride 2024 และเชื่อมั่นว่านอกจากสนับสนุนการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะทำให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียม พร้อมตอบรับทุกความหลากหลายด้วยความเสมอภาค และเป็นการผลักดันไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2030 อีกด้วย
- ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม สร้างสังคมเสมอภาค
ความเท่าเทียมระหว่างเพศ (Gender Equality) เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินนโยบายทางสังคมไทยให้เดินหน้าสู่สังคมที่เท่าเทียมและเจริญรุ่งเรือง โดยรัฐบาลภูมิใจที่ได้สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม ภายใต้ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ และขอย้ำคำมั่นสัญญาในการสร้างสังคมที่เปิดรับความหลากหลาย และมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน โดยรัฐบาลจะพิจารณาแง่มุมที่จะเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการศึกษา สถานที่ทำงาน การดูแลสุขภาพที่ไม่แบ่งแยก และการเข้าถึง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความหลากหลายสำหรับทุกคน
- (11 ก.ย. 66) รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ ว่าจะผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หลังจากนั้นรัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการผลักดันกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
- (27 มี.ค. 67) สภาผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระ 3 ด้วยคะแนน 400 ต่อ 10 โดย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักการอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น”
- (2 เม.ย. 67) วุฒิสภาได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระ 1 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 147 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง โดยกระบวนการต่อไปคือการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 27 คน ซึ่งจะเป็นการพิจารณาเชิงรายละเอียด หลังจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ในวาระสอง เพื่อลงมติรายมาตรา และการพิจารณาเห็นชอบในวาระสามต่อไป
- ทำความรู้จัก LGBTQ
เมื่อได้เห็นคำว่า LGBTQ หลายคนอาจจะคิดถึงความหลากหลายทางเพศ แต่รู้หรือไม่ว่าตัวย่อทุกตัวที่เรียงกันอยู่ล้วนมีความหมายอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) แฝงอยู่ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับตัวย่อเหล่านี้กัน
• L = Lesbian (L) หรือเลสเบี้ยน คือ ผู้หญิงที่มีความรักต่อผู้หญิงด้วยกัน
• G = Gay (G) หรือเกย์ คือ ผู้ชายที่มีความรักต่อผู้ชายด้วยกัน
• B = Bisexual (B) หรือไบเซ็กชวล คือ บุคคลที่สามารถมีความรักได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ไบ (Bi)
• T = Transgender (T) หรือทรานส์เจน คือ บุคคลที่รู้สึกพึงพอใจกับอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตน ซึ่งมักจะหมายถึงผู้ที่ได้รับการแปลงเพศที่ตนเองต้องการแล้ว ซึ่งเเบ่ง ออกเป็น Male to female Transgender (MtF) คือ ผู้หญิงที่ได้รับการแปลงเพศมาจากเพศชายเรียบร้อยแล้วหรือเรียกว่า ผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman) และ Female to Male Transgender (FtM) คือ ผู้ชายที่ได้รับการแปลงเพศมาจากเพศหญิงเรียบร้อยแล้วหรือเรียกว่า ผู้ชายข้ามเพศ (transman)
• Q = Queer (Q) หรือเควียร์ คือ บุคคลที่มีความรักโดยไร้กฎเกณฑ์ (ทางเพศ) เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ใด ๆ ไม่จำกัดว่าจะต้องรักชอบกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ที่อยู่เหนือคำจำกัดความทางเพศโดยสิ้นเชิง
• เครื่องหมาย คือ สัญลักษณ์ที่สื่อถึงกลุ่มคนที่นอกเหนือจาก LGBTQ เช่น ตัว I = Intersex คือ บุคคลที่มีเพศสองเพศ หรือ A = Asexual คือ คนที่ไม่ได้มีความฝักใฝ่ทางเพศ เป็นต้น เพื่อให้ครอบคลุมความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ
- Pride Month เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางเพศ จึงกำหนดให้เดือนมิถุนายนเป็น Pride Month หรือเดือนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยจุดเริ่มต้นของเดือนแห่งความภาคภูมิใจเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1960 ซึ่งเป็นยุคที่สังคมยังไม่เปิดรับผู้มีความหลากหลายทางเพศเหมือนปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ บางคนถูกไล่ออกจากบ้าน ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องหลบ ปิดบังตัวตนไม่ให้ใครได้รู้ เมื่อไม่มีใครยอมรับ สถานที่ปลอดภัยของพวกเขาจึงมีเพียงแค่ ”บาร์เกย์” ที่เปรียบเสมือนสถานที่นัดรวมตัวเพื่อสังสรรค์ และเป็นที่พักสำหรับใครก็ตามที่ถูกทางบ้านขับไล่มา
กระทั่งเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจบุกจับกุมผู้ใช้บริการในบาร์เกย์ ”สโตนวอลล์ อิน” (Stonewall Inn) ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นทรานส์ เกย์ และอื่นๆ แต่พวกเขาไม่ยอม สุดท้ายเหตุการณ์จึงบานปลาย มีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามเหตุการณ์ในครั้งนั้นจึงกลายเป็นชนวนให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ ความเท่าเทียม และต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกทางตัวตน.
*ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.amnesty.or.th/