เมื่อ : 00 00 543

          70 ปี กับภารกิจของ “ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี” หรือ “ศ.อ.ศ.อ.” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า TUFEC ซึงย่อมาจาก Thailand UNESCO Fundamental Education Centre เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2497 โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำหน้าที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับมูลสารศึกษา และให้ความรู้กับประชาชนในภูมิภาคนี้ ที่สำคัญเป็นแหล่งเรียนรู้แห่งที่ 3 ของโลก ซึ่งรัฐบาลไทย และ UNESCO ได้สร้างพื้นฐานการศึกษาให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ และองค์ความรู้สำหรับการประกอบอาชีพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นับเป็นแหล่งเรียนรู้และมรดกทางการศึกษาของโลกที่สำคัญ

            จากภารกิจและการเปลี่ยนแปลงของกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมการศึกษานอกโรงเรียน โดยการขยายโอกาสการศึกษาผู้ใหญ่อย่างกว้างขวางในปี 2513-2523 รัฐบาลได้ยกฐานะกองการศึกษาผู้ใหญ่ ขึ้นเป็น ”กรมการศึกษานอกโรงเรียน” ขึ้น เพื่อจัดการศึกษานอกโรงเรียนสำหรับประชาชนในวันที่ 24 มีนาคม 2522 หรือ (กศน.) 

            ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการปฏิรูประบบราชการ และมีการยุบรวมกรมต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ จากเดิม 14 กรม เหลือเพียง 5 สำนักงาน ทำให้ กรมการศึกษานอกโรงเรียน ถูกยุบรวมเป็นสำนักงานบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมามีพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พุทธศักราช 2551 สำนักงานบริหารการศึกษานอกโรงเรียน จึงปรับภารกิจเป็นสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ยังมีชื่อย่อ กศน.) ระดับจังหวัดและระดับภาค ศ.อ.ศ.อ.เปลี่ยนชื่อตามเป็นสถาบันส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กศน.ภาค)

            ยกฐานะเป็นกรม โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติการส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 และยกฐานะ ​สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (กสร.) โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นไป 60 วัน หรือตรงกับวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566 มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ

            ดังนั้น ศ.อ.ศ.อ. เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ (สกร.ภาค)

            ความสำคัญ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง องค์การสหประชาชาติ ได้สำรวจดูประชาชนที่ยังไม่รู้หนังสือทั่วโลก ปรากฏว่ามีมากถึง 1,200 ล้านคน UNESCO พิจารณาเห็นว่า การให้การศึกษาผู้ใหญ่ประเภทหลักมูลสารศึกษานี้จะช่วยให้ประชาชนได้รับการศึกษา และมีความรู้พอสมควรในอันที่จะยกระดับฐานะ การครองชีวิตในด้านการประกอบอาชีพ การอนามัย การเกษตร การอุตสาหกรรม การขจัดปัญหาต่างๆ เพื่อให้มีชีวิตร่วมอยู่ด้วยกันในสังคมด้วยดี  ปี พ.ศ. 2491 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ได้เริ่มดำเนินงานฝึกเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับมูลสารศึกษา โดยส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยประเทศเฮติ จัดตั้งศูนย์กลางมูลสารศึกษาแห่งชาติ และได้รับผลเป็นที่พึงพอใจ การประชุมใหญ่ของ UNESCO ครั้งที่ 6 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2494 มีบรรดาประเทศที่เป็นสมาชิก 64 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย (มี ม.ล.ปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหัวหน้าผู้แทนประเทศไทย) ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ตั้งศูนย์กลางหลักมูลสารศึกษาขึ้นประจำภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกขึ้น 6 แห่ง คือ

            1. กลุ่มละตินอเมริกัน 1 แห่ง 2. กลุ่มแอฟริกากลาง 1 แห่ง 3. กลุ่มประเทศอินเดีย 1 แห่ง

4. กลุ่มภาคตะวันออกกลาง 1 แห่ง 5. กลุ่มประเทศตะวันออกไกล 2 แห่ง

            ศูนย์กลางการศึกษาหลักมูลฐานแห่งที่ 1 ของโลกเรียกว่า CREFAL มีชื่อเต็มว่า Centre Regional Education Fundamental American Latin ตั้งขึ้นที่แพทซ์คัวโร (Patzcuaro) ประเทศเม็กซิโก (Maxico) เริ่มดำเนินงานและเปิดเรียน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 19 เดือน 6 เดือนแรก เป็นการศึกษาที่ศูนย์กลาง แล้วออกไปปฏิบัติงานในหมู่บ้านเป็นเวลา 10 เดือน และกลับมาปฏิบัติงานที่ศูนย์กลางอีก 3 เดือน รับนักศึกษาจาก 9 ประเทศ โดยใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก และไม่มีความลำบากในเรื่องภาษา เพราะทุกประเทศใช้ภาษาสเปน

            ศูนย์กลางการศึกษาหลักมูลฐานแห่งที่ 2 ของโลกเรียกว่า ASFEC มีชื่อเต็มคือ Arab State Fundamental Education Centre ตั้งขึ้นที่ซิสซ์-เอล-ลายาน (Sirs-el-Layan) ประเทศอียิปต์ (Egype) เริ่มดำเนินงานและเปิดเรียนเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 ศูนย์กลางแห่งนี้รับนักศึกษาจากกลุ่มประเทศอาหรับ 6 ประเทศ คือ อียิปต์ จอร์แดน อิรัค เลบานอน อาระเบีย และซีเรีย ศูนย์กลางแห่งนี้ไม่มีความลำบากในเรื่องภาษา เพราะทุกประเทศใช้ภาษาอาหรับ

            ศูนย์กลางการศึกษาหลักมูลฐานแห่งที่ 3 ของโลก คือ ศ.อ.ศ.อ. หรือ TUFEC ซึงย่อมาจากคำว่า Thailand UNESCO Fundamental Education Centre ที่ตั้งขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีประเทศไทย เป็นศูนย์กลางอบรมการศึกษาระหว่างชาติประจำภาคอาเซียตะวันออก และประเทศต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ลาว เขมร เวียดนาม

            การดำเนินงานเพื่อจัดตั้ง ศ.อ.ศ.อ. ตามมติของการประชุมใหญ่ของ UNESCO ในเดือนพฤศจิกายน 2494 ทางยูเนสโกได้ส่งนายจอน เบาเออร์ส (Mr.John Bowers) ทำการสำรวจสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งศูนย์กลางการศึกษามูลฐาน โดยเจ้าหน้าที่ของไทยได้เสนอสถานที่ 2 แห่ง คือ ที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี และที่จังหวัดอุบลราชธานี Mr.John Bowers มีความเห็นว่า จังหวัดชลบุรี มีความเจริญอยู่แล้ว ดังนั้น Mr.John Bowers และนายพร ทองพูนศักดิ์ หัวหน้ากองฝึกหัดครู ในขณะนั้น ได้เดินทางไปสำรวจบริเวณโรงเรียนฝึกหัดครูอุบลราชธานี เพราะเห็นว่าเป็นที่เหมาะสมหลายประการ 

            ต่อมา รัฐบาลได้อนุมัติเงิน 5 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานนี้ในงบประมาณปี 2494 ในปลายเดือนธันวาคม 2495 Dr.R.M. Tisinger ได้รับแต่งตั้งจากยูเนสโก โดยความเห็นชอบของรัฐบาลไทยทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอื่น ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ จากองค์การชำนาญพิเศษ เช่น UNTAA. ,ILO.,F.A.O., และ M.S.A. วันที่ 17 มีนาคม 2496 พลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ตำแหน่งในเวลานั้นรวมทั้งคนอื่นๆ ด้วย) นายครรชิต อินทรครรชิต ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี หลวงปราโมทย์ จรรยาวิภาช อธิบดีกรมอาชีวศึกษา, ขุนอภิรักษ์จรรยา ศึกษาธิการภาค 1 นายขาว โกมลมิศร์ ศึกษาธิการภาค 7 นายบุรินทร์ สิมพะลิก ผู้ช่วยอธิบดีกรมสามัญศึกษา, นายโถ สุขะวรรณ หัวหน้ากองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวง, นายวิญญาติ ปุตรเศรณี หัวหน้ากองโรงเรียน, ร.ท.สมพันธุ์ ขันธชวนะ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, Mr.Marshall หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญ UNESCO ประจำประเทศไทย, Mr.Roger Wilson ผู้แทน ILO., Dr.Jang., Dr.Mar ผู้แทน F.A.O., Dr.Hutchinson ผู้แทน M.S.A., Mr.Bowers ผู้แทน UNESCO จากปารีส, พลอากาศโทหลวงเชิด วุฒากาส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายวัชระ เอี่ยมโชติ เลขานุการรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่อื่นๆ จากกรุงเทพฯ อีกประมาณ 30 คน และศึกษาธิการจังหวัดใกล้เคียงได้ไปร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างตึกอำนวยการและบ้านพักอาจารย์ หอพักนักศึกษา สโมสร 

            วันที่ 14 พฤษภาคม 2497 พลเอก มังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี และถือเอาวันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนา ศ.อ.ศ.อ. และในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เป็นวันครบรอบ 70 ปี แห่งการก่อตั้ง ศ.อ.ศ.อ. ทางสถาบัน สกร.ภาค ร่วมกับภาคีเครือข่าย กศน. จัดกิจกรรม และบำเพ็ญกุศล เพื่อเป็นสิริมงคล และสร้างความรักความสามัคคี ความกตัญญูต่อสถาบันและบูรพาจารย์

​          ประการสำคัญ กระทรวงศึกษาธิการได้บันทึกไว้แห่งประวัติศาสตร์การศึกษาไทย โดยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2498 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยม ศ.อ.ศ.อ. แห่งนี้ ยังความปลื้มปิติต่อเหล่าข้าราชการเจ้าหน้าที่ และผู้เข้าร่วมพิธีโดยทั่วกัน ภายหลังจาก ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล กราบบังคมทูลถวายรายงานถึงความเป็นมาของ ศ.อ.ศ.อ. แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ดังนี้

          “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่จังหวัดอุบลราชธานีในวันนี้ ตามที่ประธานกรรมการได้แถลงถึงการจัดตั้งศูนย์กลางอบรมศึกษาผู้ใหญ่ขึ้นในจังหวัดนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท และมีความรู้พอที่จะไปช่วยเหลือให้ความรู้แก่ประชาชน ตลอดจนผลิตอุปกรณ์เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาต่างๆ นั้นเป็นที่พอใจมาก เพราะการที่ได้จัดให้มีการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้นนี้ นับว่าเป็นนโยบายที่ดี จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถปรับปรุงตนในทางเศรษฐกิจ และสังคมให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

​          ข้าพเจ้าหวังว่าศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่นี้ จะเป็นแหล่งเพิ่มพูนความรู้แก่ประชาชนและหวังว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย จะช่วยกันดำเนินกิจการให้เป็นผลดี และขอให้นักศึกษา จงพยายามเล่าเรียนให้สำเร็จตามหลักสูตร จะได้เป็นกำลังช่วยกันส่งเสริมสมรรถภาพของประชาชนให้ก้าวหน้าสืบไป

​ข้าพเจ้าขอขอบใจองค์การศึกษาสหประชาชาติและองค์กรอื่นๆ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการนี้เป็นอย่างดี ขออวยพรให้บรรดาผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการนี้ ตลอดจนอาจารย์ และนักศึกษา จงมีความสุขเจริญทั่วกัน”

          จากวันวาน ถึงวันนี้ 70 ปี ศ.อ.ศ.อ. ได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ เป็นสถาบันการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ ในการยกระดับการศึกษา และคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้มีอาชีพเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมประเทศชาติ และเป็นสถาบันที่อยู่ในความทรงจำของครู อาจารย์ บุคลากร และศิษย์เก่า ศ.อ.ศ.อ. ตลอดไป.

   ………..

* ปัญญา แพงเหล่า/รายงาน

   2 พฤษภาคม 2567

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ