อุบลฯ ประชุมคณะทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ในรูปแบบสหวิชาชีพระดับจังหวัด
19 เม.ย. 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 4 อาคาร 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี นายสำราญ ศรีโชติ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมคณะทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ในรูปแบบสหวิชาชีพระดับจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นคณะทำงานตามคำสั่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ซึ่งมีแนวทางที่จะพัฒนาระบบรายงานการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ และการกระทำรุนแรง (Crisis Response System : CRS) โดยจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งใน 14 จังหวัดที่ถูกเลือกให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการทำโครงการพัฒนาระบบส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ในพื้นที่จังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมระบบ วิเคราะห์รูปแบบการดำเนินงานผลกระทบ การวางกลไกการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ รวมทั้งเกิดการประสานความร่วมมือเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีด้วยรูปแบบสหวิชาชีพ
คณะทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ในรูปแบบสหวิชาชีพระดับจังหวัดอุบลราชธานี ได้แบ่งคณะทำงานออกเป็น 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านปกป้องคุ้มครองสิทธิ (ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ) ด้านการป้องกัน ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วย ด้านการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ด้านนวัตกรรมเพื่อการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ด้านการติดตามและประเมินผล ซึ่งเป็นกลไกในการดำเนินงานเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในจังหวัดอุบลราชธานี ตามมาตรการสำคัญในการยุติปัญหาเอดส์ ได้แก่ การสร้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด การบูรณาการทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม และสร้างความเข้มแข็งพัฒนาคุณภาพของเครือข่ายระดับจังหวัด โดยที่ประชุมได้รับฟังการรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานทั้ง 6 ด้าน ในการดำเนินการประชาสัมพันธ์ ระบบรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิด้านเอดส์ เพศภาวะ และความเป็นกลุ่มประชาชากรเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติผ่านระบบ Crisis Response System : CRS , การส่งเสริมให้บุคลากรในหน่วยงานที่เป็นผู้ให้บริการประชาชนเข้าไปเรียนรู้ (S&D E-Learning) เพื่อเป็นการปรับทัศนคติและมุมมองเรื่องเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ และการแนะนำระบบการรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิ (Crisis Response System : CRS) จังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากนี้ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินการตามเรื่องร้องเรียน ที่ได้รับการร้องเรียนผ่านในระบบ CRS ของจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 9 เรื่อง อาทิ เรื่องสถานศึกษาไม่อนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพในการฝึกปฏิบัติการ, เรื่องการขออนุญาตใช้รูปถ่ายแต่งกายตามเฟสสภาพด้วยชุดนักศึกษาหญิงในใบรับรองคุณวุฒิการศึกษา และเรื่องการถูกจำกัดสิทธิ์ในการเข้าถึงยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Prep) ฟรี เป็นต้น.